การออกแบบแผนผังโรงงานอุตสาหกรรม

การออกแบบแผนผังโรงงานอุตสาหกรรม (Industrial Plant Layout Design)

การวางผังโรงงานหรือสถานประกอบการ เพื่อให้ได้ใช้พื้นที่อย่างคุ้มค่า เกิดความปลอดภัย กระบวนการผลิต และการทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญดังต่อไปนี้

  • -เพื่อลดระยะทางและเวลาในการเคลื่อนย้ายวัสดุ
  • -เพื่อช่วยลดเวลาในการเคลื่อนย้ายวัตถุดิบ และขจัดปัญหาด้านการทำงานมากเกินไป
  • -เพื่อความสะดวกในการดำเนินงาน โดยแบ่งเนื้อที่ในโรงงานได้อย่างเหมาะสม เช่น ช่องทางเดิน พื้นที่เก็บสินค้า พื้นที่พักวัตถุดิบ จุดปฏิบัติงาน ที่พักชิ้นงานที่เป็นสินค้าสำเร็จรูป
  • -เพื่อขจัดสิ่งรบกวน การสั่นสะเทือนของพื้นที่ ฝุ่นละออง ความร้อน กลิ่น การถ่ายเทอากาศ
  • -เพื่อจัดแผนงานต่าง ๆ ให้ทำงานในกรอบความรับผิดชอบชัดเจน ให้เอื้อต่อกระบวนการผลิต และง่ายต่อการควบคุม
  • -เพื่อการจัดวางพื้นที่ให้มีประโยชน์อย่างเต็มที่
  • -เพื่อลดความเสี่ยงต่อปัญหาด้านสุขภาพ และสร้างความปลอดภัยให้กับคนงาน

 

       ในการออกแบบผังโรงงาน เพื่อใช้ประกอบกิจการโรงงาน ตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 มีการใช้ข้อมูล ที่ผู้ประกอบการต้องเตรียม เพื่อขออนุญาตดังนี้

  • 1)  โฉนดที่ดิน หรือขนาดแนวเขตที่ดินที่ใช้สำหรับประกอบกิจการโรงงาน
  • 2)  ขนาดพื้นที่อาคาร และจำนวนชั้นของโรงงาน
  • 3)  จำนวนคนงานในพื้นที่ทำงานต่าง ๆ ภายในโรงงาน
  • 4)  ชนิดและปริมาณวัตถุดิบที่ใช้ต่อเดือนหรือต่อปี
  • 5)  ผลิตภัณฑ์ ผลพลอยได้ และกากของเสียอุตสาหกรรม
  • 6)  เอกสารแสดงรายละเอียดเครื่องจักร (ชื่อ ขนาด บริษัท/ประเทศผู้ผลิต)
  • 7)  รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA) หรือรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Environmental and Health Impact Assessment: EHIA)  แล้วแต่กรณี
  • อย่างไรก็ตาม ยังมีโรงงาน อีก 25 ประเภท ที่ไม่เข้าข่ายตามประกาศดังกล่าว แต่ต้องจัดทำรายงานเกี่ยวกับการศึกษาและมาตรการป้องกันแก้ไขผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย  (Environmental and Safety Assessment: ESA)
  • 8)  รายงานการวิเคราะห์ความเสี่ยง 11 (Risk Assessment) มีโรงงาน 12 ประเภท
  • 9)    สูตรการประเมินแรงม้าเครื่องจักร
  • 10)   ขั้นตอนกระบวนการผลิต พร้อมแผนภูมิการผลิต (Flow Process Charts) รวมทั้งรายละเอียดของอุณหภูมิ ความดัน เชื้อเพลิง สารเคมี หรือวัตถุอันตราย เป็นต้น
  • 11)   แบบระบบการกำจัดมลพิษสิ่งแวดล้อม ได้แก่ อากาศ น้ำ ขยะ กากของเสียอุตสาหกรรม และ/หรือวัตถุอันตราย เป็นต้น
  • 12)   แบบคำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน/ขยายโรงงาน (ร.ง. 3)
 
 
 ขั้นตอนการออกแบบแผนผังโรงงาน (แสดงรูปตัวอย่างแนะนำและในการเขียนแบบ)
  • ขั้นตอนที่ 1 เขียนแผนที่สังเขป แสดงสถานที่ตั้งโรงงาน โดยแสดงสถานที่ใกล้เคียงในรัศมี 100 เมตร ระบุว่าเป็นโรงงาน บ้านพักอาศัย หรือสาธารณสถาน เส้นทางการจราจร
 
 
 
  • ขั้นตอนที่ 2 เขียนแบบแปลนรวมอาคารและบริเวณโรงงาน (Master Plan) ให้มีขนาดที่เหมาะสมและถูกต้องตามมาตราส่วน (ข้อมูลที่จะแสดงและบรรจุไว้ในแบบอย่างน้อยควรจะมี แผนที่สังเขปแสดงที่ตั้งโรงงาน พร้อมระบุมาตราส่วนที่ใช้ หากไม่สามารถระบุได้ ให้ใช้ No Scale ภาพแปลนของอาคารโรงงานแสดงทางเข้าทางออกโรงงานทุกจุด– แสดงตำแหน่งที่ตั้งสัญญาณเตือนภัย, แสดงตำแหน่งที่ตั้งถังดับเพลิง, แสดงที่ตั้งตำแหน่งห้องน้ำห้องส้วม (แยกชาย / หญิง), แสดงทิศทางการไหลของวงจรน้ำฝน, แสดงทิศทางการไหลของวงจรน้ำเสียเข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสีย และบัญชีรายการจำนวนจุดติดตั้งสัญญาณเตือนภัย จำนวนถังดับเพลิง จำนวนห้องน้ำห้องส้วม เป็นต้น] และในขั้นตอนนี้ขอแนะนำให้ใช้กระดาษจัดทำแบบขนาด A1 หรือ อย่างน้อยต้องเป็น A3 (กรณีเป็นโรงงานขนาดเล็ก)
 
 
 
 
 
   ขั้นตอนที่ 3 จัดทำแบบอาคารโรงงาน (แสดงด้านหน้า,ด้านข้าง) ให้ถูกต้องตามมาตราส่วนสำหรับที่จะให้ พนักงานเจ้าหน้าที่สามรถตรวจสอบขนาดความสูงของพื้นที่ปฏิบัติงานของอาคารโรงงานได้
 
  
 
 
  • ขั้นตอนที่ 4 จัดทำแบบแปลนแผนผังแสดงการติดตั้งเครื่องจักร (M/C LAYOUT) ให้มีขนาดเหมาะสมและถูกต้องตามมาตราส่วนพร้อมด้วยรายการบัญชีเครื่องจักร ข้อมูลที่จะแสดงและบรรจุไว้ในแบบอย่างน้อยควรจะมีขนาดของเครื่องจักร (กว้างสุด x ยาวสุด) ตามความเป็นจริงและให้เขียนมาตราส่วนเดียวกันกับแบบแปลนของอาคารโรงงาน ให้ใส่หมายเลขเครื่องจักรตามขบวนการผลิตเริ่มจากเลข 1 ไปถึงเครื่องจักรตัวสุดท้าย (สิ้นสุดกระบวนการผลิต) แนะนำให้ใช้กระดาษจัดทำแบบขนาด A1 หรือ อย่างน้อยต้องเป็น A3 (กรณีเป็นโรงงานขนาดเล็ก)
 
    
 
 
  • ขั้นตอนที่ 5 จัดทำบัญชีเครื่องจักรที่ใช้ในกระบวนการผลิต และทำการประเมินแรงม้าเครื่องจักรโรงงานทุกเครื่องที่ใช้ในขบวนการผลิต (โดยใช้แบบฟอร์มตามกฎหมายโรงงาน หรือแบบฟอร์มตามกฎหมายการนิคมอุตสาหกรรมฯ)
 
 
  • ขั้นตอนที่ 6 ตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ “เอกสารแผนภูมิกระบวนการผลิต เอกสารรายการบัญชีเครื่องจักร – เอกสารการคำนวณการประเมินแรงม้าเครื่องจักร เอกสารแบบ Master Plan เอกสารแบบ M/C Layout เอกสารแบบด้านหน้า – ด้านข้างของอาคารโรงงาน” เมื่อเห็นว่าถูกต้องครบถ้วนแล้วให้เซ็นชื่อกำกับในเอกสารที่สำคัญ ๆ ดังกล่าวข้างต้น/ ในขั้นตอนนี้แนะนำให้จัดทำเอกสารแต่ละอย่างอย่างน้อยเป็นจำนวน 5 ชุด (เพื่อใช้สำหรับยื่นต่อกรมโรงงานฯหรือสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดหรือสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมจำนวน 3 ชุด ให้ทางโรงงานเก็บไว้จำนวน 1 ชุดและให้ส่งคืนวิศวกรผู้ปฏิบัติงานออกแบบแผนผังโรงงานจำนวน 1 ชุด)
  • ขั้นตอนที่ 7 จัดทำหนังสือรับรองที่แสดงว่าสามัญวิศวกรหรือวุฒิวิศวกรอุตสาหการ ได้เป็นผู้ปฏิบัติงานออกแบบแผนผังโรงงานให้กับโรงงานชื่ออะไร ตั้งอยู่ที่ไหน มีเงื่อนไขอะไรในการออกแบบแผนผังโรงงาน และในตอนท้ายของหนังสือรับรองวิศวกรผู้ออกแบบและเจ้าของโรงงานจะต้องเซ็นชื่อกำกับไว้ในหนังสือรับรองดังกล่าวนี้ด้วย (สามารถดูแบบฟอร์มหนังสือรับรองตัวอย่างได้จากของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยหรือจะสร้างแบบฟอร์มของหนังสือรับรองขึ้นมาเองก็ได้) และวิศวกรผู้ออกแบบจะต้องแนบสำเนาใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมระดับสามัญ หรือวุฒิวิศวกรสาขาวิศวกรรมอุตสาหการแนบเข้ากับหนังสือรับรองที่จัดทำขึ้นมานี้ด้วย

 

หัวข้อต่าง ๆ ในการตรวจสอบแผนผังโรงงาน

1) การเลือกทำเลที่ตั้งโรงงาน

-  การตั้ง/ห้ามตั้งโรงงานใน สถานที่ต่าง ๆ ตามกฎหมาย

-  ระยะจากสถานที่ต่าง ๆ

2) ลักษณะพื้นที่อาคารและพื้นที่โดยรอบ

-  ลักษณะอาคาร

-  พื้นที่โดยรอบ

-  ถนน ทางเข้า-ออกที่จอดรถ

-  สถานที่ตั้งหม้อแปลง ภาชนะวัตถุอันตราย

-  ระบบดับเพลิง

-  สถานที่เก็บวัสดุ เก็บขยะ

-  การกำจัดขยะ สิ่งปฏิกูล และวัสดุไม่ใช้แล้วให้เป็นไปตามประกาศที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานกำหนด  [ขยะอันตราย &ขยะไม่อันตรายที่เกิดจากกระบวนการผลิต]

-  การบำบัดและระบายน้ำเสีย

-  การบำบัดและระบายอากาศเสีย

3) ลักษณะอาคารโรงงานและการแบ่งพื้นที่อาคาร

-   มั่นคงแข็งแรง เหมาะสม และมีบริเวณเพียงพอที่จะประกอบกิจการอุตสาหกรรมนั้น ๆ  โดยมีคำรับรองของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม   (วิศวกรโยธา)

-   รายละเอียดเรื่องทางหนีไฟ

-   รายละเอียดเรื่องห้องน้ำ

-   มีการระบายอากาศที่เหมาะสม  โดยให้มีพื้นที่ประตูหน้าต่างและช่องลมรวมกันโดยไม่นับที่ติดต่อระหว่างห้อง ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ส่วนของพื้นที่ของห้อง หรือมีการระบายอากาศไม่น้อยกว่า 0.5 ลูกบาศก์เมตรต่อนาทีต่อคนงานหนึ่งคน

-  ระยะดิ่งระหว่างพื้นถึงเพดาน โดยเฉลี่ยต้องไม่น้อยกว่า 3 เมตร  เว้นแต่มีระบบปรับอากาศหรือระบายอากาศที่เหมาะสมแต่ระยะดิ่งดังกล่าวจะต้องไม่น้อยกว่า 2.30 เมตร

-  พื้นต้องมั่นคงแข็งแรง ไม่มีน้ำขังหรือลื่น ได้ง่าย ฯลฯ

-  บริเวณหรือห้องทำงานต้องมีพื้นที่ปฏิบัติงานไม่น้อยกว่า 3 ตารางเมตรต่อคนงานหนึ่งคน (โดยการคำนวณพื้นที่ให้นับรวมพื้นที่ที่ใช้วางโต๊ะปฏิบัติงาน เครื่องจักร ผลิตภัณฑ์ หรือวัสดุที่เคลื่อนไปตามกระบวนการผลิตด้วย

-  ในโรงงานที่มีการผลิตสิ่งที่ใช้บริโภค ต้องจัดให้มีที่ล้างมือ ยาฆ่าเชื้อหรือสบู่อันได้สุขลักษณะ และตั้งอยู่ในที่เหมาะสมอย่างน้อยในอัตราคนงานไม่เกิน 15 คนต่อ 1 ที่คนงานไม่เกิน 40 คนต่อ 2ที่คนงานไม่เกิน 80 คนต่อ 3ที่และเพิ่มขึ้นต่อจากนี้ในอัตราส่วน 1 ที่ต่อจำนวนคนงานไม่เกิน 50 คน

-  จัดให้มีเครื่องมือปฐมพยาบาล ตามที่กฎหมายกำหนด

-  จัดให้มีน้ำดื่มที่ถูกสุขอนามัย ตามที่กฎหมายกำหนด

4) การติดตั้งเครื่องจักร การเคลื่อนย้ายวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์

-    ตรวจสอบวิเคราะห์จะเสี่ยง เครื่องจักร/เครื่องมือ/อุปกรณ์ลากจูง

-    กำหนดระยะห่าง มีแนวกั้น

5)  การคำนวณแรงม้าเครื่องจักร

-    คำนวณแรงม้าเปรียบเทียบ ตามหลักการและคู่มือ

เอกสารอ้างอิง: 

Visitors: 18,174